ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย





มหาวิทยาลัยรังสิตตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีอาณา บริเวณกว้างขวาง ท่านผู้ก่อตั้งคือ คุณพ่อประสิทธิ์ อุไรรัตน์ และดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อสภาพแวดล้อมของสถาบัน โดยได้ปรับปรุงและบำรุงพื้นที่ที่เคยเป็นท้องทุ่งนาข้าวให้เป็นสถานศึกษาที่ อุดมสมบูรณ์ทั้งหลักวิชาความรู้และสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่สะอาดบริสุทธิ์ไว้เพื่อให้นักศึกษา ของมหาวิทยาลัยเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และปัญญา มหาวิทยาลัยรังสิตจึงได้ปลูกต้นพะยอมไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของสถาบัน

และในโอกาสที่มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ รับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยครั้งที่ 20 เมื่อประมาณต้นปี พ.ศ. 2536 ได้มีหนังสือขอทราบชื่อต้นไม้ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อดำเนินการปลูกในบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้นักกีฬาและนิสิต นักศึกษาได้เยี่ยมชมระหว่างการแข่งขันกีฬา คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยโดย ดร. สืบแสง พรหมบุญ(ขณะดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี) ได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้ต้นพะยอมเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยรังสิต

พะยอมหรือขะยอมเป็นไม้ยืนต้นขนาดสูงใหญ่ สูงประมาณ 15-30 เมตร ลำต้นตั้งตรง หรือคดงอบ้าง เปลือกหนาแตกร่อง ลายเกล็ดสีเทาอมน้ำตาลเหมือนสนิมเหล็ก เรือนยอดรูปไข่ทึบ แตกเป็นพุ่ม ใบเรียบเป็นมัน รูปรีขอบขนาน ปลายใบป้าน และผลัดใบก่อนออกดอก มีดอก สีขาวขนาดเล็กกลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบรองเล็ก 2 กลีบ ออกดอกเป็นช่อใหญ่ตามปลายกิ่งหรือกิ่งข้าง ผลเป็นรูปกระสวยปลายแหลม มีปีกยาว 3 ปีก ปีกสั้น 2 ปีก ขึ้นทั่วไปแต่พบตามป่าเบ็ญจพรรณ และป่าดงดิบที่มีดินทราย

ขะยอมเป็นภาษาเมืองเหนือ แต่ภาษาเมืองหลวงเรียกว่าพะยอม (บางแห่งเขียนว่าพยอมหรือพยมดง)มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าShorea roxburghii B.Donอยู่ในตระกูลไม้ยาง(Depterocarpaceae) มักออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมหรือกุมภาพันธ์ปีละครั้ง โดยจะบานสะพรั่งเต็มต้น ส่งกลิ่นหอมเย็นอบอวลโดยเฉพาะในตอนเช้าและตอนเย็น

พะยอมมีคุณประโยชน์หลายอย่าง เปลือกใช้ต้มกินเป็นยาฝาดสมาน แก้ท้องร่วงและลำไส้อักเสบเปลือกทำเป็นสารกันบูดของเครื่องหมักดอง (เช่น กระแช่ น้ำตาลเมา) เปลือกมีรสฝาดจึงใช้กินแทนหมาก ลำต้นเป็นไม้เนื้อแข็งชั้นเยี่ยม ใช้ทำหมอนรองรางรถไฟ โครงเครื่องเรือน เรือขุด หรือใช้ในการก่อสร้างอื่นๆ ที่ต้องรับน้ำหนัก ดอกใช้เป็นยาหอมแก้ลม บำรุงหัวใจและลดไข้ ดอกพะยอมยังนำมาปรุงเป็นอาหารรสดี เช่น ลวกหรือต้มจิ้มน้ำพริก ผัดกับไข่ หรือแกงส้ม เป็นต้น

หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยรังสิต อาคารหอสมุด ชั้น 6 หมู่บ้านเมืองเอก ถ.พหลโยธิน อ.เมือง จ.ปทุมธานี 12000 โทร. 02-997-222 ต่อ 3257 โทรสาร 02-997-222 ต่อ 3273