พระศรีศาสดา
พระศรีศาสดาหรือบางครั้งเรียกว่าพระศาสดาเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยสุโขทัย ที่ได้รับการยกย่องว่ามีความสำคัญควบคู่กับพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหารพระศรีศาสดาวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร
ที่มาของการจำลองพระศรีศาสดามาประดิษฐาน ณ มหาวิทยาลัยรังสิต เนื่องมาจากคุณพ่อประสิทธิ์ อุไรรัตน์ นายกสภาวิทยาลัยรังสิตในขณะนั้นมีความประสงค์จะให้วิทยาลัยมีรูปเคารพที่เป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นที่เคารพสักการะของบุคลากรและนักศึกษาของวิทยาลัย และด้วยคำแนะนำของสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารให้สร้างเป็นพระพุทธรูป และพระพุทธรูปที่พระญาณสังวรเลือกแนะนำให้จำลองมาคือ พระศรีศาสดา ทั้งนี้เพราะพระพุทธรูปองค์นี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาแต่โบราณ ทั้งยังเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่มีเกียรติคุณทัดเทียมกับพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์
มหาวิทยาลัยรังสิตจึงได้มอบหมายให้อาจารย์บัณจบ พลาวงศ์ เป็นผู้รับผิดชอบจำลองพระศรีศาสดาซึ่งอาจารย์ได้มอบหมายให้ลูกศิษย์ชื่อ นายชุมพล รอดเรืองนาม จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เป็นผู้ปั้นภายใต้การควบคุมดูแลของอาจารย์การปั้นรูปจำลองพระศรีศาสดาเริ่มตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ใช้เวลาปั้นทั้งสิ้น ๓ เดือน พระพุทธรูปจำลองนี้เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ข้างซ้ายวางหงายบนพระเพลาพระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ (เข่า) นิ้วชี้ธรณี มีขนาดหน้าตักกว้าง ๔ ศอกคืบ ความสูงจากฐาน ๖ ศอกคืบ ๒ นิ้ว พระรัศมียาว ๑ ศอกคืบ ๑ นิ้ว
มณฑปพระศรีศาสดาซึ่งเป็นสถานที่สำหรับประดิษฐานพระศรีศาสดาจำลองได้รับการออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดย อาจารย์บัณจบ พลาวงศ์ และเขียนแบบโดย อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ลักษณะทรงอาคารเป็นรูปแบบเดียวกับพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งผังอาคารประดิษฐานเป็นมณฑป มีจตุรมุข ตัวมณฑปตกแต่งด้วยการปิดทองคำเปลวบริสุทธิ์และประดับกระจกสีหลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ฐานเป็นแบบฐานแผ่เพื่อป้องกันการยุบตัวของแผ่นดิน มณฑปตั้งอยู่บนฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดกว้าง ๕ เมตร ยาว ๕ เมตร แต่ละมุขมีความยาวยื่นออกมาข้างละ ๕๐ เซนติเมตร มณฑปสูง ๑๕.๔๐ เมตร บริเวณลานที่ปูกระเบื้องที่กรุลูกกรงกว้าง ๔ เมตร และยาว ๔ เมตร