ประวัติความเป็นมาของหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยรังสิต



มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีชื่อเสียงและผลงานเป็นที่รู้จักทั้งในระดับชาติและสากล นับตั้งแต่ได้มีการสถาปนามหาวิทยาลัยแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยรั งสิตได้มีการพัฒนามาเป็นลำดับทั้งในด้านการเรียนการสอนและความรับผิดชอบต่อสังคม การค้นคว้าและวิจัยกิจกรรมนักศึกษาและชีวิตภายในมหาวิทยาลัยในด้านต่างๆ ซึ่งมีส่วนทำให้มหาวิทยาลัยเจริญและคงความเป็นสถาบันที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี นักศึกษาของมหาวิทยาลัยสำเร็จการศึกษาออกไปเป็นบุคคลที่มีบทบาทในวงการต่างๆ ของสังคมตั้งแต่รุ่นแรกๆ จนถึงปัจจุบัน

ความเป็นมาและเรื่องราวที่ทรงคุณค่าต่อการศึกษาค้นคว้าและการเผยแพร่เพื่อเป็นแบบอย่างอันดีงามแก่อนุชนรุ่นหลังโดยเฉพาะผู้ที่ก้าวเข้ามาศึกษาในสถาบันแห่งนี้ได้ถูกบันทึกไว้ในรูปของเอกสารและวัสดุสิ่งของซึ่งเมื่อสิ้นกระแสการปฏิบัติงานของหน่วยงานและได้รับการวินิจฉัยพิจารณาว่ามีคุณค่าจะถูกเก็บรักษาเป็นจด หมายเหตุของมหาวิทยาลัยต่อไป

เอกสารและวัสดุสิ่งของที่ได้รับการประเมินว่ามีคุณค่าเหล่านี้ถือเป็นจดหมายเหตุที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย เนื่องจากเรื่องราวที่ปรากฏในเอกสารหรือวัตถุจดหมายเหตุไม่ว่าจะเป็นเอกสารของมหาวิทยาลัย เอกสารส่วนบุคคล สิ่งพิมพ์ของมหาวิทยาลัย ภาพถ่าย ภาพยนตร์วิดีทัศน์ เครื่องแบบของนักศึกษาหรือของที่ระลึกที่มหาวิทยาลัยจัดทำขึ้นเนื่องในวาระต่างๆ ล้วนเป็นหลักฐานที่บันทึกและบอกเล่าเรื่องราว ความทรงจำและเหตุการณ์สำคัญที่สะท้อนภูมิหลังเชิงประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี

สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับนั้น ผู้บริหารสามารถใช้ประโยชน์จากเอกสารและวัตถุจดหมายเหตุในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนามหาวิทยาลัย ในส่วนของอาจารย์ นักศึกษา บุคลากร และผู้สนใจทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์จากเอกสารและวัตถุจดหมายเหตุเพื่อการศึกษาค้นคว้าและวิจัย โดยเฉพาะเอกสารจด หมายเหตุนั้นถือเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงประวัติและพัฒนาการของการดำเนินของหน่วยงานเจ้าของเอกสารและใช้คุ้มครองสิทธิผลประโยชน์ทั้งของมหาวิทยาลัยและบุคลากรของมหาวิทยาลัย

การก่อตั้งหอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นดำริของ ดร.อุทัย ทุติยะโพธิ อดีตผู้อำนวยการสำนักหอสมุด ด้วยเห็นว่ามหาวิทยาลัยรังสิตเพิ่งเริ่มก่อตั้งทำให้ง่ายและสะดวกต่อการรวบรวม จัดเก็บ และ ค้นหาเอกสารที่เป็นประวัติของมหาวิทยาลัยรังสิต ประกอบกับคุณพ่อ ประสิทธิ์ อุไรรัตน์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยรังสิตได้มอบของที่ระลึกที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยรังสิตกับมหาวิทยาลัยอื่นที่ได้ติดต่อกันมาให้ห้องสมุดเก็บรักษา เพื่อเป็นที่รำลึกสำหรับอนุชนคนรุ่นหลังและอนุสรณ์ของมหาวิทยาลัยรังสิต

ในการนี้ ดร.อุทัย ทุติยะโพธิ ได้ขออนุมัติเงินจากมหาวิทยาลัย จำนวน 1,375,555 บาท (หนึ่งล้านสามแสนเจ็ดหมื่นห้าพันบาทถ้วน) ปรับปรุงพื้นที่ด้านฝั่งตะวันตกของชั้น 6 อาคารหอสมุดให้เป็น "หอจดหมายเหตุ" โดยโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2542 มีเอกสารและวัตถุจดหมายเหตุเกี่ยวกับมหาวิทยา ลัยรังสิตสำหรับให้บริการแก่อาจารย์ นักศึกษา บุคลากร และผู้สนใจทั่วไปเมื่อเริ่มให้บริการในระยะแรกประมาณ 1,000 รายการ

หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยรังสิต อาคารหอสมุด ชั้น 6 หมู่บ้านเมืองเอก ถ.พหลโยธิน อ.เมือง จ.ปทุมธานี 12000 โทร. 02-997-222 ต่อ 3257 โทรสาร 02-997-222 ต่อ 3273