ผลงานและความภาคภูมิใจ
<<< กลับสู่หน้า คุณพ่อประสิทธิ์ อุไรรัตน์
คุณพ่อประสิทธิ์ได้เคยกล่าวถึงชีวิตการรับราชการใน ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดไว้ในหนังสือบันทึกชีวิตประสิทธิ์ อุไรรัตน์ ที่ระลึกครบ ๗ รอบนักษัตรตอนหนึ่งว่า "ผมชอบมากกว่าจะไปทางศาล ... เพราะงานผู้ว่าค่อนข้างกว้างขวาง การทำงานเราก็ทำไปตามที่เขากำหนดไว้ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเราก็คิดสร้างสรรค์ขึ้นมา" ดังนั้น ช่วงเวลาที่คุณพ่อประสิทธิ์อยู่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านได้อุทิศแรงกายแรงใจเพื่อพัฒนาความเจริญมากมายจนได้รับความนับถือและ ศรัทธาจากบุคคลทุกระดับชั้นจนได้รับการยกย่องว่า "ท่านประสิทธิ์ อุไรรัตน์ถือเป็นสุดยอดผู้ว่าฯ นักพัฒนา"
• คุณพ่อประสิทธิ์ อุไรรัตน์กับงานพัฒนา
คุณพ่อ ประสิทธิ์ได้เริ่มต้นชีวิตการรับราชการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น ครั้งแรกที่จังหวัดสระบุรีเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ท่านได้สร้างผลงานพัฒนาไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ระลึกถึงไว้หลายอย่าง ทั้งการสร้างศาลากลางจังหวัดหลังแรกขึ้น การสร้างถนนอุไรรัตน์ที่อำเภอแก่งคอย
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ คุณพ่อประสิทธิ์ได้ย้ายมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และได้พัฒนาสิ่งปลูกสร้างและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ทั้งการสร้างถนนปราจีนตคาม ถนนปราจีนอนุสรณ์ ถนนศรีมหาโพธิ์ ถนนสายบ้านสร้าง การสร้างตลาดสด รวมทั้งการพัฒนาที่ดินเพื่อให้ข้าราชการและประชาชนได้มีที่ดินอยู่อาศัยและ ทำมาหากิน
เมื่อย้ายมาที่จังหวัดสมุทรสงครามใน ราวปี พ.ศ. ๒๕๐๕ คุณพ่อประสิทธิ์เห็นว่าชาวบ้านยังต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการสัญจรเนื่องจาก ยังไม่มีถนนหนทาง ท่านจึงได้พยายามจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่จำกัดมาสร้างถนนเพื่ออำนวยความ สะดวกให้แก่ประชาชนขึ้นหลายสาย อาทิ ถนนประสิทธิ์พัฒนา ซึ่งเป็นเส้นทางที่ตัดขึ้นเพื่อเชื่อมตัวอำเภอเมืองออกสู่ถนนธนบุรี—ปากท่อ ถนนธรรมนิมิต ถนนราชญาติรักษา และสะพานข้ามคลองบางจะเกร็ง
สำหรับจังหวัดปทุมธานีที่คุณพ่อ ประสิทธิ์รับราชการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นจังหวัดสุดท้ายนั้น ท่านได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอาชีพของประชาชนโดยเฉพาะอาชีพเกษตรกรรม ทั้งการปรับปรุงสภาพพื้นผิวดิน การขุดลอกคูคลองเพื่อการถ่ายเทน้ำให้ไหลเวียนชะล้างหน้าดิน การส่งเสริมให้มีการทำนาปีละ ๒ ครั้ง โดยช่วยจัดหาพันธุ์ข้าวและปุ๋ยที่มีคุณภาพเหมาะกับสภาพภูมิประเทศและภูมิ อากาศ ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว
เมื่อคุณพ่อประสิทธิ์ย้ายมาเป็นผู้ ตรวจราชการ กระทรวงมหาดไทย เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าฝ่ายกฎหมายของกระทรวงฯ ท่านได้รับมอบหมายให้ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการทางพิเศษซึ่งมาแล้วสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ หลังจากที่ท่านเกษียณอายุราชการแล้ว
• คุณพ่อประสิทธิ์ อุไรรัตน์กับการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
เมื่อ รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูปการศึกษาโดยขยายการศึกษาภาคบังคับจากเดิมถึงระดับชั้น ประถมศึกษา ๔ เป็น ๗ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๔ โดยโครงการนี้เป็นโครงการที่ได้รับความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย องค์การยูเนสโก และองค์การยูนิเซฟ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญจากสององค์การมาร่วมงานด้วย ในการนี้ คุณพ่อประสิทธิ์ได้ให้ความสำคัญและใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งด้วยการเข้าร่วมประชุมเพื่อวางแผนการเปิดสอนชั้นประถมปลายกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการและเจ้าหน้าที่จากสององค์การเพื่อเลือกโรงเรียน ที่เป็นศูนย์กลางความสะดวกในการเดินทางมาเรียน การออกตรวจเยี่ยม ติดตามผลการดำเนินงานของโครงการ และผลักดันจนจังหวัดสมุทรสงครามซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องประสบความสำเร็จเป็น แห่งแรก โรงเรียนที่มีงบประมาณสำหรับปรับปรุงอาคารหรือโรงฝึกงานจำกัด ท่านจะระดมครูช่างไปช่วยสร้างจนแล้วเสร็จโดยไม่เสียค่าแรง และในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีได้ช่วยจัดหา ที่ดินราชพัสดุประมาณ ๒๙๔ ไร่ บริเวณริมถนนพหลโยธิน อำเภอคลองหลวง สำหรับเป็นที่ก่อสร้างวิทยาลัยครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้มีจิตฝักใฝ่ในการทำนุบำรุงพระศาสนาทั้งการบูรณะและปรับปรุง ศาสนสถานหลายแห่ง อาทิ การปรับปรุงกุฏิวัดเกตการามที่ชำรุดทรุดโทรมและไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยโดย การบอกบุญและเมื่อมีผู้มาบริจาคท่านก็ให้ครูโรงเรียนการช่างมาช่วยสร้างทำ ให้ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มาก การย้ายวัดคลองช่างหรือวัดธรรมประสิทธิ์ซึ่งเดิมอยู่ห่างไกลชุมชนไปอยู่ใน พื้นที่ที่เหมาะสมโดยท่านให้สร้างโรงเรียนก่อนแล้วจึงสร้างวัดเพราะชุมชนจะ ย้ายไปอยู่ใกล้โรงเรียน นอกจากนี้ท่านยังได้พัฒนาวัดไทร วัดช่องลม วัดวชิรคาม และวัดบางกะพ้อม จนมีความวัฒนาถาวรมาจนถึงปัจจุบัน