คุณพ่อประสิทธิ์ อุไรรัตน์ กับมหาวิทยาลัยรังสิต


<<< กลับสู่หน้า คุณพ่อประสิทธิ์ อุไรรัตน์


"... เราจะสร้างเยาวชนและคนรุ่นใหม่ให้เป็นบัณฑิตที่เพียบพร้อมด้วยวิทยาการและเพียบพร้อมด้วยจริยธรรม..."

...งานที่ผมดำริริเริ่มขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นงานใด หนึ่งจะต้องแก้ปัญหา และตอบสนองความต้องการของประเทศชาติทั้งในปัจจุบัน และที่คาดประมาณว่าอาจเกิดขึ้นในอนาคต สอง ถ้าใช้วิจารณญาณพบว่าอะไรดีอะไรชอบ กอปรกับต้นทุนและพันธมิตรมาร่วมคิดร่วมมือร่วมใจ ร่วมลงทุนลงแรง ก็ให้ลงมือทำไปเลยมีปัญหาค่อยแก้ไขไปเป็นเปลาะๆ ไม่ต้องเสียเวลาศึกษาความเป็นไปได้ ถ้าดูจากประวัติการงานที่ผมริเริ่ม ใครๆ คงคิดว่าในใจผมโรงพยาบาลเอกชนนั้นมาก่อน แต่ขอเรียนไว้ ณ ที่นี้ว่า จากการที่ผมได้มีโอกาสทำงานเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ผมให้ความสนใจอย่างยิ่งต่องานวางผังเมือง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการศึกษาเป็นหลัก โดนเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาจะอยู่ในใจผมมาโดยตลอด ผมพูดเสมอว่า "ผมเองได้รับราชการมาในตำแหน่งหน้าที่หลายตำแหน่ง แต่ไม่เคยภูมิใจในตำแหน่งใดยิ่งกว่าตำแหน่งครู เมื่อมีคนมาเรียกว่าครูก็ชื่นใจ"

ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ผมอยู่จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดของผมเป็นจังหวัดทดลองรุ่นแรกที่มีการขยายการศึกษาภาคบังคับจาก ป.๔ ถึง ป. ๗ ผมหา Peace Corps มาสอนภาษาอังกฤษจนเด็ก ป. ๕ในชนบทใช้ภาษาอังกฤษได้ ราวปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ผมไปดูงานที่ประเทศเยอรมันนีไปดูเรื่องของการศึกษาด้วย มีศาสตรจารย์มาบรรยายถึงการศึกษาว่าช่วยให้คนมองเห็นจุดเชื่อมระหว่าง วัฒนธรรมและอารยะรรม ทำให้เด็กเกิดปัญญา ไม่ยึดติดกับภาพลักษณ์ของอนาคต แต่เชื่อมโยงทั้งสามมิตินี้เข้าด้วยกัน แนวคิดนี้อยู่ในใจผมตลอดมา พาให้ครุ่นคิดว่า วันหนึ่งเราจะทำอย่างไรให้เด็กไทยของเรามองเห็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รู้จักระมัดระวังทุกย่างก้าว และมีจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อประเทศและมนุษยชาติเมื่อเติบโตขึ้น ทำอย่างไรเราจะช่วยกันอุ้มแกลงจากหลังควายตัวเดิมได้ ไม่ใช่มาเรียน ๔ ปี ๗ ปี แล้วกลับไปอยู่บ้าน ไปอยู่บนหลังความตัวเดิม ผมคิดของผมอย่างนี้มาตลอด เมื่อสบโอกาส คือ มีประสบการณ์จากการตั้งโรงพยาบาลเอกชนด้วยสมองและสองมือจนเป็นผลสำเร็จ ประกอบกับรัฐเปิดไฟเขียวกำหนดไว้ในแผนพัฒนาว่าให้เอกชน โดยสถาบันการศึกษาเอกชนช่วยการศึกษา โดยเฉพาะผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลน ความคิดที่อยู่ในใจจึงถ่ายทอดออกมาเป็นความจริง เป็นรูปธรรมออกมาได้

แม้ว่า อิฐ หิน ดิน ทราย แมกไม้สายธาร ผืนแผ่นดินที่รองรับมหาวิทยาลัยรังสิตนั้นมีชีวิต คงจะช่วยถ่ายทอดประวัติความเป็นมา และวิวัฒนาการของมหาวิทยาลัยรังสิตได้ดีที่สุด เพราะคณะผู้ก่อตั้งได้ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ จินตนาการ และพลังสร้างสรรค์ทุกรูปแบบไว้ในทุกอณูของความเป็นรังสิต นับตั้งแต่การปรับพื้นที่ที่เป็นที่นาเก่าแก่ พงหญ้าป่ากก ที่ลุ่มน้ำขัง จนกระทั่งเป็นผืนดินเดียวที่หล่อเลี้ยงด้วยคูน้ำ และธารน้ำเวียนวน สลับด้วยพื้นที่สีเขียว และแปลงไม้ดอกไม้ประดับ ผมมีประสบการณ์ของการวางผังหลักกำหนดที่ตั้งอาคารต่างๆ ตามลำดับความสำคัญก่อหลัง เรามีทุกอย่างไว้ในใจ คณะต่างๆ สรรค์สร้างขึ้นตามกระแสความต้องการ กำลังคน คุณภาพ อาคารใดที่ยังไม่จำเป็นเท่าก็รั้งรอไว้ก่อน โดยอิงอาศัยซึ่งกันและกัน จึงไม่แปลกที่เรามีตึก ๑ ทีหลังตึกอื่นๆ

ความภูมิใจของคณะผู้ก่อตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมเองอยู่ที่การเห็นเยาวชนของชาติได้มีที่เรียนระดับอุดม ศึกษาที่มีคุณภาพ ไม่ต้องเสียอกเสียใจซ้ำซากกับการสอบไม่ติดมหาวิทยาลัยของรัฐ ไม่มีที่แทรกเข้าไปเรียน ได้ร่วมระดมสรรพกำลังจากครูอาจารย์ภาครัฐให้มีการใช้ประโยชน์สูงสุด และช่วยให้ครูอาจารย์เป็นจำนวนมากมีการผลิตเกินความต้องการได้ใช้ศักยภาพของ ตนในการจัดการเรียนการสอน ได้พัฒนาตนเองทางวิชาการ และมีวิชาชีพที่มั่นคง เป็นหลักเป็นฐานสำหรับครอบครัว ผมภูมิใจที่ทุกวันนี้รังสิตเป็นที่พึ่งพิงอิงอาศัยของคนนับหมื่นๆ คน อีกทั้งเป็นสถานที่บ่มเพาะสถาบันคุณภาพให้งอกงามขึ้นมาอีก ทั้งโรงเรียนนานาชาติ British International school, Phuket และโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต

ต่อจากนี้ไป ไม่ว่าผมจะอยู่หรือไม่ รับรู้หรือไม่ในยามที่มหาวิทยาลัยพัฒนาขึ้นเต็มรูปแบบ ทั้งอาคารสถานที่ โครงสร้างพื้นฐาน หลักสูตรวิชาต่างๆ แต่อิฐ หิน ดิน ทราย แมกไม้สายธาร ก็กอปรก่อขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยรังสิต จะเป็นประจักษ์พยานแทนผมถึงวิวัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคต เมื่อเราทุกคนคืนกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของดิน น้ำ ลม ไฟ เราก็จะได้ซึมซับถึงทุกอณูของความเป็นรังสิตสืบต่อไปชั่วนิจนิรันดร

ผมจะมีความสุขอย่างยิ่ง ถ้าทุกคนทั้งนักศึกษา คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และทุกชีวิตที่เคยเป็น กำลังเป็นและจะก้าวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรังสิตในอนาคต จะรัก หวงแหน และภูมิใจในมหาวิทยาลัยรังสิตอย่างที่ผมรู้สึกและขอถือโอกาสนี้อวยพรให้ทุก คนประสบความสำเร็จ สมหวัง ทั้งในหน้าที่การงาน และการส่วนตัว เป็นพลังร่วมสร้างสรรค์มหาวิทยาลัยรังสิตให้เจริญก้าวหน้าสืบต่อไปใน อนาคต..."

ประสิทธิ์ อุไรรัตน์

หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยรังสิต อาคารหอสมุด ชั้น ๖ หมู่บ้านเมืองเอก ถ.พหลโยธิน อ.เมือง จ.ปทุมธานี ๑๒๐๐๐ โทร. ๐๒-๙๙๗-๒๒๒๒ ต่อ ๓๔๕๗ โทรสาร ๐๒-๙๙๗-๒๒๒๒ ต่อ ๓๔๗๓