คดีกบฏพระยาทรงสุรเดช


<<< กลับสู่หน้า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร

พ.ศ. ๒๔๘๑ – ๒๔๘๖ ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เสด็จในกรมฯ ทรงถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในกบฏพระยาทรงสุรเดช ทำให้พระองค์ถูกคุมขังที่เรือนจำบางขวางและตะรุเตา รวมทั้งถูกถอดออกจากฐานันดรศักดิ์

๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๒ ศาลพิเศษซึ่งมีพันเอกหลวงพรหมโยธีเป็นประธานตัดสินว่า มีการเตรียมการยึดอำนาจโดยพันเอกพระยาทรงสุรเดชเป็นผู้นำ ในการอ่านคำพิพากษาให้ปล่อยตัวพ้นข้อหา จำนวน ๗ คน จำคุกตลอดชีวิตจำนวน ๒๕ คน ส่วนโทษประหารชีวิต จำนวน ๒๑ คน แต่ให้เว้นการประหาร คงเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต ๓ คน เนื่องจากเคยประกอบคุณงามความดีให้กับประเทศชาติ คือ



๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร พระนามเดิม พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ (๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๘ – ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๔) พระราชโอรสองค์ที่ ๕๒ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง สนิทวงศ์ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ดำรงพระชนม์ชีพอยู่เป็นพระองค์สุดท้าย ซึ่งในการพิพากษาคดีมีคำสั่งให้ถอดจากฐานันดรศักดิ์ลงมาเป็นสามัญชนถูกจำคุกอยู่จนถึงวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๔๘๖ ก็ได้รับการอภัยโทษจากรัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม



๒. พลโทพระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ซึ่งต่อมาในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๔๘๗ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกกดดันให้ลงออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการเสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร โดย นายควง อภัยวงศ์ขึ้นเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ในเดือนสิงหาคม ซึ่งภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลก็คือ ขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่นักโทษการเมืองทั้งหมด พลโทพระยาเทพหัสดิน ได้รับอิสรภาพเมื่อวันที่ ๒๐กันยายน ๒๔๘๗ และได้รับนิรโทษกรรมในเวลา ๓ ปีต่อมา ในเดือนกันยายน ๒๔๙๐ จากนั้น พลโทพระยาเทพหัสดิน ได้รับหนังสือขอโทษจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยมีเนื้อความแสดงถึงความเข้าใจผิดในกรณีกบฏพระยาทรงสุรเดช รวมทั้งผลที่เกิดขึ้นตามมา และขอการอโหสิกรรมในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด

หลังจากรัฐประหาร ๖ เมษายน ๒๔๙๑ ที่เรียกกันว่า "รัฐประหารเงียบ" ทำให้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม กลับมามีอำนาจทางการเมือง และขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงปลายปีนั้นเอง พระยาเทพหัสดิน ก็ได้รับพระราชทานยศเป็นพลเอก และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๑



๓. พันเอกหลวงชำนาญยุทธศิลป์ (เชย รมยะนันท์) หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร และเป็นผู้อ่านประกาศแถลงการณ์ของคณะราษฎร์ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการ (๒๑ ธันวาคม ๒๔๘๐ – ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๑)

นักโทษการเมืองทั้งหมดถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำบางขวาง จากนั้นนักโทษประหารชีวิตถูกทยอยนำตัวออกมาประหารด้วยการยิงเป้าวันละ ๔ คน จนครบ จำนวน ๑๘ คน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ "กบฏ ๑๘ ศพ"

หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยรังสิต อาคารหอสมุด ชั้น ๖ หมู่บ้านเมืองเอก ถ.พหลโยธิน อ.เมือง จ.ปทุมธานี ๑๒๐๐๐ โทร. ๐๒-๙๙๗-๒๒๒๒ ต่อ ๓๔๕๗ โทรสาร ๐๒-๙๙๗-๒๒๒๒ ต่อ ๓๔๗๓